วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

หลักภาษามาเลเซีย 11

ในครั้งที่แล้วเราได้พูดเกี่ยวกับหลักการเติมคำอุปสรรค me และ ber กันไปแล้วเล็กน้อยนะครับ ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่เราไม่ได้กล่าวถึง นั้นก็คือการ me เข้ากับคำที่เริ่มต้นด้วยกับอักษร k , p , s , t ซึ่งสำหรับคำที่เริ่มต้นด้วยกับอักษรเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนรูปอักษร ดังนี้ครับ
อักษร k เปลี่ยนเป็น ng เช่น kutip – mengutip , kayuh-mengayuh, kekal-mengekalkan
อักษร p เปลี่ยนเป็นอักษร m เช่น pukul-memukul , picit-memicit , palu-memalu , pijak -memijak
อักษร s เปลี่ยนเป็นอักษร ny เช่น susun – menyusun, simpan – menyimpan , sindir –menyindir
และ อักษร t เปลี่ยนเป็นอักษร n เช่น tutup –menutup , tikam –menikam , tatap –menatap เป็นต้นครับ
ส่วนคำปัจจัย - หรือคำเติมหลัง - ที่สามารถใส่เข้ากับคำกริยาได้ในภาษามลายูนั้นมีอยู่สองคำด้วยกันครับ ซึ่งก็คือ kan และ i ครับ เช่น masukkan (masuk+kan), besarkan (besar+kan), usahakan (usaha+kan), fahami (faham+i), turuti (turut+i)
(ส่วนจะเลือกใช้อย่างไรนั้นเราคงต้องว่ากันในคราวหน้าหากมีโอกาส)
นอกจากนั้นในคำกริยาบางคำก็จะพบว่ามีการเติมทั้งคำอุปสรรคนำหน้าและตามด้วยคำปัจจัยตามหลังนะครับ เช่น memberikan (mem+beri+kan), menghadiahkan (meng+hadiah+kan), memasuki (me+masuk+i) menaiki (me+naik+i), membasahi (mem+basah+i)เป็นต้นครับ
ประเด็นสุดท้ายก็คือการเรียนรู้เรื่องของหลักการเติมคำอุปสรรคปัจจัยนี้มีประโยชน์อะไร ? คำตอบคราวๆก็คือจะช่วยทำให้สามารถเปิดพจนานุกรมเพื่อหาความหมายคำศัพท์ได้ถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากว่าเราจะไม่สามารถค้นหาความหมายของคำๆหนึ่งเว้นแต่เราต้องรู้ว่ารากคำของคำๆนั้นมาจากคำว่าอะไรโดยต้องตัดคำอุปสรรคปัจจัยออกเสียก่อนและในกรณีของคำที่มีการเปลี่ยนรูปจำเป็นต้องย้อนกลับให้เป็นรากคำเดิมหรือคำมูลเสียก่อนครับ เช่น คำว่า membasuh ถ้าหากเราไปเปิดพจนานุกรมภายใต้หมวด m เราจะหาความหมายของคำไม่พบ วิธีการหาคือต้องตัดคำอุปสรรคออกเสียก่อน ในกรณีของคำนี้ก็ต้องตัด me ออก ก็จะได้รากคำคือ basuh ซึ่งเมื่อเราเปิดพจนานุกรมก็จะพบว่ามันมีความหมาย ล้าง/ซัก หรือคำว่า meminjam คำนี้หลังจากที่ตัดคำอุปสรรค me ออกไปแล้วเรายังต้องเปลี่ยนอักษร m ให้เป็น p เพราะเดิมทีมันมาจากคำว่า pinjam ที่เติม me เข้าไปตามที่ได้ชี้แจงข้างบนนะครับ หรือคำว่า menukar คำนี้ถ้าจะหาความหมายของมันในพจนานุกรม เราก็ต้องตัด me ออก แล้วเปลี่ยน n ให้กลับเป็นอักษรเดิมนั่นก็คืออักษร t ตามที่ได้ชี้แจงข้างต้น เราก็จะได้รากคำซึ่งก็คือคำว่า tukar และเมื่อเปิดพจนานุกรมดู เราก็จะได้ความหมายของคำนี้มา นั่นก็คือ เปลี่ยน นั่นเองครับ
ครับยังไงถ้าเพื่อนๆอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจก็ลองถามคุณครูภาษามลายูให้ช่วยชี้แจงเพิ่มเติมก็ได้นะครับ บางทีการอ่านด้วยตัวเองอาจจะทำให้เข้าใจได้ไม่ดีเท่ากับการฟังคำอธิบายจากคุณครูโดยตรง ครับแล้วกลับมาพบกันใหม่คราวหน้าครับ Sampai jumpa lagi.

หลักภาษามาเลเซีย 10

ก่อนหน้านี้เราเคยพูดคุยกันเกี่ยวกับลักษณะของภาษามลายูที่เป็นภาษาคำติดต่อ กล่าวคือเป็นภาษาที่มีการเติมคำเติมหน้า (คำอุปสรรค)คำเติมหลัง (คำปัจจัย)เพื่อเปลี่ยนสถานะภาพของคำจากกลุ่มคำหนึ่งไปเป็นอีกกลุ่มคำหนึ่ง เช่น จากคำคุณศัพท์เป็นคำกริยา หรือจากคำนามเป็นคำกริยา หรือ จากคำกริยาเป็นคำนาม เป็นต้น
คราวนี้เราจะมาพูดกันต่อเกี่ยวกับหลักการเติมคำอุปสรรค/ปัจจัยที่ใส่เข้ากับคำกริยา หรือคำที่ต้องการเปลี่ยนสถานะภาพให้เป็นคำกริยา นะครับว่าในภาษามลายูมีหลักการใช้อย่างไร ?
ถ้าเพื่อนๆยังจำได้เราเคยพูดคราวๆว่าหลักๆแล้วคำเติมหน้าคำกริยานั้นจะมีสองกลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่ม me (ซึ่งมักจะใส่เข้ากับสกรรมกริยา) และกลุ่ม ber (ซึ่งมักจะเติมเข้ากับอกรรมกริยา) หมายเหตุ ที่ต้องเรียกว่า กลุ่ม ก็เพราะว่า ภายใต้คำอุปสรรค me และ ber นั้นจะมีสมาชิกของมัน ดังนี้ กลุ่ม me มี mem , men , meng และ menge ส่วนกลุ่ม ber ก็จะมี be และ bel เป็นสมาชิกภายในกลุ่มครับ
เมื่อแต่ละกลุ่มมีสมาชิกอยู่หลายตัวอย่างนี้ แล้วเราจะเลือกนำเอาคำอุปสรรคเหล่านี้มาใช้อย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร ? หลักก็คือเค้าให้พิจารณาดูว่าคำๆหนึ่งนั้นเริ่มต้นด้วยกับอักษรอะไร เช่น คำว่า baca เป็นคำที่เริ่มต้นด้วยกับอักษร b หลักกำหนดว่า ให้เติมคำอุปสรรค mem หรือคำว่า minum หลักก็กำหนดว่าให้เติม คำอุปสรรค me เป็นต้นครับ และรายละเอียดมีดังนี้ครับ
Me – k, l, m, n , ng, ny, p, r, s , t , w, x , y ,
Mem- b, f , v
Men – c , d , j, sy, z ,
Meng- a, e, i, o , u , g, gh , h, kh
Menge – ใส่เข้าคำที่มีหนึ่งพยางค์
เช่น makan-memakan , nganga- menganga , nyanyi-menyanyi, baca-membaca , fitnah-memfitna, veto-memveto, cuci-mencuci, didik-mendidik , jadi-menjadi, syarat-mensyaratkan, ziarah-menziarahi , aku-mengaku, ejek-mengejek, ikut – mengikut, ukur-mengukur , gigit –menggigit, cat-mengecat, cam- mengecam เป็นต้นครับ
ส่วนการเติมคำอุปสรรค ber ก็มีหลักเกณฑ์การเลือกเติมดังนี้ครับ
Bel – ใส่กับคำว่า ajar เป็น bel+ajar : belajar
Be – ใส่กับคำที่เริ่มต้นด้วยกับอักษร r และคำยกเว้น kerja เช่น rumah-berumah, raja-beraja , kerja- bekerja
Ber- ใส่กับคำอื่นๆนอกเหนือจากกลุ่มข้างบนทั้งสองกลุ่ม เช่น lari-berlari, malam-bermalam , janji – berjanji , jalan-berjalan, baju-berbaju , kasut -berkasut เป็นต้นครับ
ส่วนความหมายของคำกริยาหลังเติมคำอุปสรรคเหล่านี้เราสามารถตรวจดูได้จากพจนานุกรมนะครับ ครับหวังว่าคงจะได้ให้ข้อมูลบางอย่างแก่เพื่อนๆสมาชิกไม่มากก็น้อยนะครับ ถ้าหากว่าอ่านครั้งเดียวยังไม่เข้าใจก็ลองอ่านครั้งที่สองเเละที่สามดูนะครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่ครับ

ภาษามาเลเซีย 9



    Salam sejahtera diucapkan kepada semua ahli Kelab Pencinta Bahasa Melayu . ยินดีที่กลับมาพบกันใหม่อีกครั้งนะครับ วันนี้ขอนำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับหลักภาษามลายูให้เพื่อนๆได้เรียนรู้เล็กน้อยครับ เป็นประเด็นเกี่ยวกับคำกริยาในภาษามลายู  ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับคำกริยากันก่อนว่ามันคืออะไร คราวๆ คำกริยาก็คือ  kata yang menunjukkan sesuatu perbuatan yang dilakukan oleh manusia, haiwan atau benda. คำกริยาคือคำที่บ่งบอกการกระทำหนึ่งๆที่ถูกทำขึ้นโดยมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งของ เช่น เดิน นั่ง พูด อ่านและอื่นๆเป็นต้นครับ ในภาษามลายูเรา- ถ้าพิจารณาจากรูปแบบภายนอกของตัวคำ –สามารถแบ่งคำกริยาออกเป็นสองรูปครับ
       หนึ่ง คำกริยาที่มีหรือไม่มีคำอุปสรรค (คำเติมข้างหน้าคำ)/ปัจจัย (คำเติมข้างหลังคำ)ก็ได้เช่น makan กิน ( memakan)  , minum  ดื่ม  ( meminum ), petik เด็ด ( memetik)  , pukul ตี ( memukul )  , tolong ช่วย (menolong) , curi ขโมย (mencuri) simpan เก็บรักษา (menyimpan) และอื่นๆเป็นต้น  คำกริยาที่อยู่ในกลุ่มนี้สามารถปรากฏได้ในทั้งสองรูปโดยยังคงมีความหมายเหมือนเดิม (ป.ล สำหรับคำกริยากลุ่มนี้รูปที่เติมคำอุปสรรค/ปัจจัยจะถือว่าเป็นลักษณะของภาษาเขียน ส่วนรูปที่ไม่เติมคำอุปสรรคปัจจัยจะเป็นกรณีของภาษาพูดเสียส่วนใหญ่ อีกหนึ่งอย่างก็คือคำกริยาในกลุ่มนี้จะเป็นคำกริยารากคำเป็นคำกริยาอยู่แล้วซึ่งจะต่างกับคำกริยาในกลุ่มที่สอง)    
     สอง คำกริยาที่จำเป็นต้องมีคำอุปสรรค/ปัจจัย คำกริยาในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ
       1 .  คำที่มีรากคำมาจากคำคุณศัพท์ หรือคำนาม หรือคำบุพบทแล้วถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็นคำกริยา เช่น cantik (สวย) เป็น mencantikkan (ทำให้สวยงาม) besar (ใหญ่)เป็น membesarkan (ขยายทำให้ใหญ่) baju (เสื้อ) เป็น berbaju (ใส่เสื้อ) sekolah (โรงเรียน) เป็น bersekolah (เข้าโรงเรียนเรียนหนังสือ) untuk (สำหรับ) เป็น memperuntukkan (จัดสรร) oleh (โดย)เป็น memperoleh (ได้รับ) diri (ตน)เป็น berdiri (ยืน) เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้จำเป็นต้องเติมคำอุปสรรค/ปัจจัยเข้าไปเพื่อทำให้สื่อความหมายเป็นคำกริยา 
       2.   คำที่รากคำเป็นคำกริยาอยู่แล้วต้องการเปลี่ยนความหมายเดิมให้เป็นคำที่มีความหมายใหม่ ในภาษามลายูการเติมคำอุปสรรคปัจจัยบางตัวเข้ากับคำบางคำจะทำให้คำๆนั้นมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ada (มี)เป็น mengadakan (meng+ada+kan = จัด), tinggal (อาศัย)เป็น meninggalkan (me+tinggal+kan = ละทิ้ง/จากไป), dapat (ได้/สามารถ)เป็น mendapati (men+dapat+i= พบว่า)และอื่นๆ    คำกริยาในกลุ่มนี้ถ้าหากต้องการให้ความหมายเปลี่ยนไปจากความหมายเดิมจำเป็นต้องเติมคำอุปสรรค/ปัจจัยเสียก่อนครับ

      ครับสำหรับครั้งนี้คงแค่ก่อนนะครับ แล้วเราจะกลับมาพูดอธิบายลักษณะของคำกริยาในภาษามลายูกันต่อในคราวหน้าครับ  (หมายเหตุสำหรับบทเรียนนี้ถ้าอ่านครั้งเดียวยังไม่ค่อยเข้าใจ ลองอ่านซ้ำๆหลายๆเที่ยวนะครับแล้วความกระจ่างแจ้งก็จะบังเกิดขึ้นครับ) Jumpa lagi…..

ภาษามาเลเซีย 8

    
หลักภาษามลายู ( 8  )
ไม่รู้ว่าเพื่อนๆสมาชิกยังจำได้เกี่ยวกับเนื้อหาหลักภาษามลายูที่เราได้พูดกันไปก่อนหน้านี้หรือเปล่า ครับเราได้พูดเกี่ยวกับประโยคปฏิเสธกันไปซึ่งก็จะมีคำสองคำที่จำเป็นต้องจำให้ได้ นั่นก็คือ tidak และ bukan ในครั้งเราจะมาพูดถึงรูปแบบประโยคอีกหนึ่งรูปที่สำคัญเช่นกัน นั่นก็คือประโยคคำสั่งห้ามหรือที่เรียกเป็นภาษามลายู Ayat larangan  ในภาษามลายูเวลาเราจะห้ามไม่ให้ใครทำอะไรสักอย่างเราสามารถใช้คำดังต่อไปนี้ครับ Jangan (อย่า)  dilarang (ห้าม)  usah (อย่า)เช่น ถ้าต้องการห้ามไม่ให้ใครสูบบุหรี่ เราสามารถพูดว่า Jangan merokok  (อย่าสูบบุหรี่)หรือ Dilarang merokok (ห้ามสูบบุหรี่) Usah menangis lagi. (อย่าร้องไห้อีก) ครับการสั่งห้ามรูปแบบนี้อาจจะฟังแข็งๆเล็กน้อยซึ่งถ้าหากเราต้องการให้ฟังดูไม่แข็งกร้าวมากนัก หรือให้สุภาพสักหน่อยเราก็จะเติมคำว่า lah ลงที่ท้ายคำสั่งห้ามเหล่านั้นครับ เช่น janganlah และ usahlah แค่นี้ก็ทำให้คำสั่งห้ามนั่นฟังดูสุภาพขึ้น หมายเหตุ มีอีกหนึ่งประเด็นที่เราควรรู้เช่นกันสำหรับคำว่า usah ในบางกรณีเราสามารถใช้ในความหมายว่า จำเป็น/สำคัญ ก็ได้นะครับ ซึ่งเราสามารถเติมคำว่า tidak คู่กันกับมัน เป็น tak usah แปลว่า ไม่จำเป็น/ไม่ต้อง ก็ได้นะครับเช่น Tak usahlah bimbang. (ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกนะ) เป็นต้น   
ที่นี้เรามาดูตัวอย่างประโยคคำสั่งห้ามกันเล็กน้อยก็แล้วกันนะครับเผื่อมีโอกาสได้นำไปใช้งาน
·       Jangan buat lagi ya. (อย่าทำอีกนะ   )
·       Jangan masuk ke dalam bilik itu. ( อย่าเข้ามาในห้องนี้  )
·       Jangan memberitahu perkara ini kepada sesiapa. (  อย่าบอกเรื่องนี้กับใคร )
·       Jangan datang ke sini lagi. (อย่ามาที่นี่อีก)
·       Jangan simpan barang ini di situ. (อย่าเก็บสิ่งของนี้ที่นั้น)
·       Dilarang membuat bising. (ห้ามส่งเสียงดัง)
·       Dilarang membuang sampah di kawasan ini. (ห้ามทิ้งขยะที่บริเวณนี้)
·       Dilarang melintas jalan di sini. (ห้ามข้ามถนนที่นี่)
·       Dilarang mengambil gambar . (ห้ามถ่ายรูป)
·       Dilarang meletakkan kereta di sini. (ห้ามจอดรถที่นี่)
·       Usahlah terkenang lagi kisah yang pahit itu. (อย่าไปนึกถึงเรื่องราวที่ขมขื่นนั้น)
·       Usahlah risau tentang mereka itu. (อย่าไปวิตกกังวลเกี่ยวกับพวกเขาเหล่านั้น)


เช่นเคยนะครับ ประโยคคำสั่งห้ามนี้ก็คงไม่ยากสักเท่าไรนะครับ ขอให้จำคำที่ใช้สำหรับสั่งห้ามให้ได้ แค่นี้เราก็สามารถพูดสั่งห้ามไม่ให้ใครทำอะไรที่เราต้องการได้แล้วละครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่คราวหน้าครับ 

หลักภาษามาเลเซีย 7

หลักภาษามลายู ( 7  )
Selamat bertemu kembali rakan-rakan ahli Kelab Pencinta Bahasa Melayu. ยินดีที่ได้กลับมาเจอกันเช่นเคยครับ หลังจากที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประโยคบอกเล่าหรือ ayat penyata ในภาษามลายูกันไปแล้วในคราวที่แล้ว ครั้งนี้เราจะมาลองดูรูปประโยคถัดไปกันนะครับ นั่นก็คือประโยคปฏิเสธหรือ ayat nafi กันนะครับ
ก่อนอื่นประโยคปฏิเสธคืออะไร  ayat nafi ialah ayat yang digunakan untuk menafikan atau menidakkan sesuatu. ประโยคปฏิเสธคือประโยคที่ถูกใช้เพื่อปฏิเสธหรือยืนยันว่าบางสิ่งบางอย่างนั้นไม่ใช่บางสิ่งบางอย่าง
ในการสร้างประโยคปฏิเสธนั้นมีคำหลักอยู่สองคำที่เราต้องจำ คำแรกคือคำว่า  tidak  ที่แปลว่า ไม่ และคำว่า  bukan   ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ใช่  คำว่า  tidak  เป็นคำที่ใช้ปฏิเสธคำกริยาและคำคุณศัพท์ เช่น tidak tahu (ไม่รู้), tidak datang(ไม่มา) , tidak faham (ไม่เข้าใจ), tidak ada(มี) , tidak besar(ไม่ใหญ่) , tidak mahal(ไม่แพง) ,และ tidak jauh(ไม่ไกล)   เป็นต้นคำว่า รู้ มา เข้าใจ และมี เป็นคำกริยา ดังนั้นเวลาเราต้องการปฏิเสธเราก็จะใช้คำว่า tidak  และคำว่า ใหญ่ แพง และไกล เป็นคำคุณศัพท์ เวลาที่เราต้องการปฏิเสธ เราก็จะใช้คำว่า tidak เช่นกัน  ส่วนคำว่า  bukan  นั้นใช้สำหรับปฏิเสธคำนามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น bukan orang Indonesia(ไม่คนอินโดนีเซีย) , bukan rumah saya (ไม่ใช่บ้านฉัน), bukan ubat batuk (ไม่ใช่ยาแก้ไอ), และอื่นๆ ครับวลีที่ว่า คนอินโดนีเซีย  บ้านฉัน และยาแก้ไอ ต่างก็เป็นคำนามหรือนามวลี ดังนั้นถ้าหากจะปฏิเสธ เราก็จะใช้คำว่า bukan นะครับ จะใช้ tidak ไม่ได้  คิดว่าไม่น่ายากใช่ไหมครับ ที่นี้เรามาลองดูตัวอย่างประโยคปฏิเสธกันสักเล็กน้อยกันนะครับ เผื่อว่าจะได้มีโอกาสนำไปใช้งาน
·       Rumah saya tidak jauh dari sini.
·       (บ้านของฉันไม่ไกลจากที่นี่)
·       Saya tidak pandai memandu kereta.
·       (ฉันขับรถไม่เป็น)
·       Mereka tidak boleh bercakap Bahasa Arab.
·       (พวกเขาไม่สามารถพูดภาษาอาหรับได้)
·       Kami tidak suka makan daging.
·       (พวกเราไม่ชอบกินเนื้อ)
·       Keluarga saya tidak besar.
·       (ครอบครัวของฉันไม่ใหญ่)
·       Hari ini Encik Attakorn tidak datang bekerja.
·       (วันนี้คุณอัตถากรไม่มาทำงาน)
·       Bilik ini tidak bersih.
·       (ห้องนี้ไม่สะอาด)
·       Barang – barang di pasar Chatucak tidak mahal.
·       (สิ่งของที่ตลาดจตุจักรไม่แพง)
·       Ayah tidak ada di rumah.
·       (พ่อไม่อยู่ที่บ้าน)
·       Fatimah  tidak ada wang.
·       (ฟาติมะห์ไม่มีเงิน)
·       Hannan tidak malas.
·       (ฮันนานไม่ขี้เกียจ)
·       Ini bukan isteri Encik Khaldun.
·       (นี่ไม่ใช่ภรรยาของคุณคอลดูน)
·       Itu bukan guru Bahasa Cina kami.
·       (นั้นไม่ใช่ครูภาษาจีนของพวกเรา)
·       Orang lelaki itu bukan orang Brunei.
·       (ชายคนนั้นไม่ใช่คนบรูไน)
·       Mereka bukan orang tempatan di sini.
·       (พวกเขาไม่ใช่คนพื้นที่ที่นี่)
·       Buku itu bukan buku abangnya.
·       (หนังสือนั้นไม่ใช่หนังสือของพี่ชายเขา)
·       Alina bukan orang Yala.
·       (อลีนาไม่ใช่คนยะลา)
·       Ini bukan kasut yang saya mahu.
·       (นี่ไม่ใช่รองเท้าที่ฉันต้องการ)

ครับคิดว่าบทเรียนนี้ก็คงไม่ยากเช่นเคยนะครับ ภาษามลายูง่ายมากใช่ไหมครับ ขยันท่องจำ จดจำหลักการใช้ ฝึกพูดเยอะๆ เดี๋ยวก็เก่งภาษามลายู  ครับคราวนี้คงแค่นี้ก่อน แล้วพบกันใหม่คราวหน้าครับ Sehingga bertemu lagi pada masa akan datang. Selamat mempelajari Bahasa Melayu.