วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ภาษามาเลเซีย 9



    Salam sejahtera diucapkan kepada semua ahli Kelab Pencinta Bahasa Melayu . ยินดีที่กลับมาพบกันใหม่อีกครั้งนะครับ วันนี้ขอนำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับหลักภาษามลายูให้เพื่อนๆได้เรียนรู้เล็กน้อยครับ เป็นประเด็นเกี่ยวกับคำกริยาในภาษามลายู  ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับคำกริยากันก่อนว่ามันคืออะไร คราวๆ คำกริยาก็คือ  kata yang menunjukkan sesuatu perbuatan yang dilakukan oleh manusia, haiwan atau benda. คำกริยาคือคำที่บ่งบอกการกระทำหนึ่งๆที่ถูกทำขึ้นโดยมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งของ เช่น เดิน นั่ง พูด อ่านและอื่นๆเป็นต้นครับ ในภาษามลายูเรา- ถ้าพิจารณาจากรูปแบบภายนอกของตัวคำ –สามารถแบ่งคำกริยาออกเป็นสองรูปครับ
       หนึ่ง คำกริยาที่มีหรือไม่มีคำอุปสรรค (คำเติมข้างหน้าคำ)/ปัจจัย (คำเติมข้างหลังคำ)ก็ได้เช่น makan กิน ( memakan)  , minum  ดื่ม  ( meminum ), petik เด็ด ( memetik)  , pukul ตี ( memukul )  , tolong ช่วย (menolong) , curi ขโมย (mencuri) simpan เก็บรักษา (menyimpan) และอื่นๆเป็นต้น  คำกริยาที่อยู่ในกลุ่มนี้สามารถปรากฏได้ในทั้งสองรูปโดยยังคงมีความหมายเหมือนเดิม (ป.ล สำหรับคำกริยากลุ่มนี้รูปที่เติมคำอุปสรรค/ปัจจัยจะถือว่าเป็นลักษณะของภาษาเขียน ส่วนรูปที่ไม่เติมคำอุปสรรคปัจจัยจะเป็นกรณีของภาษาพูดเสียส่วนใหญ่ อีกหนึ่งอย่างก็คือคำกริยาในกลุ่มนี้จะเป็นคำกริยารากคำเป็นคำกริยาอยู่แล้วซึ่งจะต่างกับคำกริยาในกลุ่มที่สอง)    
     สอง คำกริยาที่จำเป็นต้องมีคำอุปสรรค/ปัจจัย คำกริยาในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ
       1 .  คำที่มีรากคำมาจากคำคุณศัพท์ หรือคำนาม หรือคำบุพบทแล้วถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็นคำกริยา เช่น cantik (สวย) เป็น mencantikkan (ทำให้สวยงาม) besar (ใหญ่)เป็น membesarkan (ขยายทำให้ใหญ่) baju (เสื้อ) เป็น berbaju (ใส่เสื้อ) sekolah (โรงเรียน) เป็น bersekolah (เข้าโรงเรียนเรียนหนังสือ) untuk (สำหรับ) เป็น memperuntukkan (จัดสรร) oleh (โดย)เป็น memperoleh (ได้รับ) diri (ตน)เป็น berdiri (ยืน) เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้จำเป็นต้องเติมคำอุปสรรค/ปัจจัยเข้าไปเพื่อทำให้สื่อความหมายเป็นคำกริยา 
       2.   คำที่รากคำเป็นคำกริยาอยู่แล้วต้องการเปลี่ยนความหมายเดิมให้เป็นคำที่มีความหมายใหม่ ในภาษามลายูการเติมคำอุปสรรคปัจจัยบางตัวเข้ากับคำบางคำจะทำให้คำๆนั้นมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ada (มี)เป็น mengadakan (meng+ada+kan = จัด), tinggal (อาศัย)เป็น meninggalkan (me+tinggal+kan = ละทิ้ง/จากไป), dapat (ได้/สามารถ)เป็น mendapati (men+dapat+i= พบว่า)และอื่นๆ    คำกริยาในกลุ่มนี้ถ้าหากต้องการให้ความหมายเปลี่ยนไปจากความหมายเดิมจำเป็นต้องเติมคำอุปสรรค/ปัจจัยเสียก่อนครับ

      ครับสำหรับครั้งนี้คงแค่ก่อนนะครับ แล้วเราจะกลับมาพูดอธิบายลักษณะของคำกริยาในภาษามลายูกันต่อในคราวหน้าครับ  (หมายเหตุสำหรับบทเรียนนี้ถ้าอ่านครั้งเดียวยังไม่ค่อยเข้าใจ ลองอ่านซ้ำๆหลายๆเที่ยวนะครับแล้วความกระจ่างแจ้งก็จะบังเกิดขึ้นครับ) Jumpa lagi…..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น